สำนักเรียนวัดทองนพคุณ คลองสาน โดย…เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สำนักเรียนวัดทองนพคุณ คลองสาน โดย…เสฐียรพงษ์ วรรณปก


Image
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ

สำนักวัดทองนพคุณ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ศิษยานุศิษย์ในพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน วันครบ 100 ปีแห่งชาตกาล ของหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นเครื่องแสดงออกถึงกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันเป็นหลักปุริสธรรม มีลูกศิษย์ลูกหาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทุกรุ่น รวมทั้งญาติโยมที่เคารพนับถือพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มาร่วมบำเพ็ญกุศลกันพร้อมหน้า

ผมในฐานะศิษย์ “วัดทองแอ๋” และศิษย์รุ่น (เกือบจะแรก) ของหลวงพ่อ ได้รับเกียรติกล่าวปาฐกถาเป็นการฆ่าเวลา โดยมี ท่าน ส. ศิวรักษ์ ศิษย์รุ่นพี่ กล่าวนำอัญเชิญ ในช่วงที่พระเถระผู้ใหญ่ที่นิมนต์มา 10 รูป ฉันภัตตาหารเพล หลังจากเสร็จเจริญพระพุทธมนต์

เรื่องใหญ่และกว้างขวาง พูดเวลาสั้นๆ ชั่วพระฉันเสร็จ คงไม่ค่อยได้ประเด็นเท่าที่ควร ผมจึงไถลไปเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการมาอยู่วัดทองนพคุณ เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก กระนั้นก็เล่าไม่ได้หมด หมดเวลาก่อน นำมาเล่าแถมอีกหน่อยหนึ่งหลังจากพระท่านกลับไปแล้ว

“วัดทองนพคุณ” เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระยาโชดึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ได้บูรณะและได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดทองนพคุณ” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดทองล่าง” คู่กับวัดทองอีกแห่งหนึ่ง อยู่ด้านเหนือหรือบน อันเรียกว่า “วัดทองบน”

ทำไมวัดทองล่างจึงกลายเป็นวัด “ทองแอ๋” บางท่านอาจสงสัย ผมเองก็สงสัย จึงถามหลวงพี่รูปหนึ่งซึ่งมาอยู่มาก่อน ท่านอธิบายว่า “คำว่าบน ภาษาจีนเรียกว่า เอ๋ วัดทองเอ๋ ก็คือวัดทองบน”

“แต่นี่ วัดทองแอ๋ ไม่ใช่ เอ๋ นี่ครับ” ผมไม่แย้ง

“เพี้ยนเสียงมาจาก ทองเอ๋ เพราะพระในวัดนี้จำนวนหนึ่ง ทำตัวเป็นพระนักเลง บางรูปดื่มยาดองนกเขาคู่เดินซึม ส่งเสียงอ้อแอ้ๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดทองแอ๋ มาแต่บัดนั้น” หลวงพ่อรูปดังกล่าวอธิบาย

“จริงหรือเปล่า หรือว่าใส่ไข่” ผมทักท้วง

หลวงพ่อรูปดังกล่าวว่า ไม่ทราบ โบราณเล่ากันมา แต่ก็อาจมีเค้า เพราะสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ค่อยจะสงบสำรวม เล่ากันถึงว่า พระสงฆ์เอาตะกร้อไปเตะฆ่าเวลา ก่อนงานพระราชพิธี รอเวลาในหลวงเสด็จ เมื่อสังฆการีกราบทูลฟ้อง ในหลวงรับสั่งว่า “เจ้ากูจะเล่นบ้าง ช่างเจ้ากูเถิด” เป็นงั้นไป

เกียรติคุณอันเล่าขานมานานก็คือ วัดทองเอ๋ของผม เป็นสำนักวิปัสสนามาก่อน มีอาจารย์สอนกรรมฐานมีชื่อหลายรูปติดต่อกันยาวนาน สมภารในยุคต้นๆ เป็นอาจารย์วิปัสสนาชื่อดังทั้งนั้น แต่แปลก ไม่มีรูปไหนเป็นเกจิอาจารย์ปลุกเสกดังวัดทั่วไปเลย

ผมมาอยู่ใหม่ได้รับทราบเรื่องของ เจ้าคุณสุธรรมสังวรเถร เจ้าอาวาส เล่ากันว่า เจ้าสัวที่เคารพในท่านเจ้าอาวาส ไปค้าขายทางทะเล เรือรั่วน้ำเข้าเรือ ทำท่าจะล่มกลางทะเล เจ้าสัวอธิษฐานจิตขอให้ท่านเจ้าคุณช่วยให้พ้นภัย

ท่านเจ้าคุณวันนั้นนำพระลูกวัดลงศาลาสวดมนต์เย็นอยู่ ก็เอาผ้าสังฆาฏิม้วนเป็นก้อนกลมๆ แล้วอุดช่องที่ร่องกระดานศาลาสวดมนต์ พลางร้องว่า เอ้า พวกเราช่วยกันอุดหน่อยๆ ท่ามกลางสายตาพระเณรลูกวัดจ้องมองด้วยความประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อจึงมีอาการประหลาดขนาดนี้ แต่ไม่มีใครปริปาก

สักพักท่านเจ้าคุณก็หยุดอุดช่อง พูดด้วยความดีใจว่า เออ พ้นแล้วๆ

เมื่อเจ้าสัวคนนั้นกลับมาบ้าน ก็รีบแจ้นมากราบเท้าท่านเจ้าคุณ เล่าว่า เรือเกือบจะล่มอยู่แล้ว แต่รอดมาได้ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยเหลือ ถามไถ่เวลาเกิดเรื่องกลางทะเล ตรงกับเวลาที่ท่านเจ้าคุณแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระภิกษุสามเณรลูกวัดวันนั้นพอดิบพอดี

เจ้าสัวจึงได้สร้างเรือสำเภาเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ลานวัดมีมาจนบัดนี้

วัดทองนพคุณ สวยงามมาก มีรูปทรงแปลก ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน หน้าต่างเป็นรูปวงกลมคล้ายพัดยศพระครูสัญญาบัตร บานใหญ่กลาง เป็นรูปพัดยศระดับพระราชาคณะ ลวดลายสวยงาม ยิ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือระดับครูทีเดียว ภาพเทพชุมนุม และม่านหลังพระประธาน ดูยังกับของจริงอย่างไรอย่างนั้น

Image
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จทางชลมารค มาถวายผ้าพระกฐินที่วัดทองนพคุณ เสด็จขึ้นท่าน้ำ เสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถ ทอดพระเนตรเห็นภาพม่านหลังพระประธานแต่ไกล ถึงกับทรงอุทานว่า ใครเอาม่านในวังมาไว้ที่นี่ อะไรประมาณนั้น ทรงโปรดปรานภาพจิตรกรรมนั้นมาก ตรัสถามได้ความว่า พระครูกสิณสังวร เจ้าอาวาสเป็นผู้บัญชาการเขียนภาพเหล่านั้น ก็ตรัสชมเชยว่า ฝีมือดีมาก ทรงมีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณรังษี”

แต่ครั้นทอดพระเนตรไปอีกด้านหน้าพระประธาน มีฉากเทพธิดาลงเล่นในสระน้ำ ก็ไม่พอพระทัย ทรงตำหนิว่า ไม่เหมาะที่จะเขียนไว้ตรงหน้าพระประธาน เวลาพระสงฆ์ลงทำสังฆกรรม ก็จะมองเห็นภาพอันไม่เหมาะสมนี้จนเสร็จสังฆกรรม

นัยว่าความคิดที่จะแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นอันงดไปโดยปริยาย พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาส ส้มกำลังจะหล่นทับ กลายเป็นว่า ได้แห้วไปฉันแทน (ฮา)

เรื่องไม่จบอยู่แค่นั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับภาพวาดในพระอุโบสถวัดทองนพคุณยาวเหยียด ทรงตำหนิพระครูกสิณสังวร ทำนองว่า ท่านเจ้าอาวาสมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ หรือวิปลาสไปแล้ว ถ้าจะว่าสติวิปลาส ทำไมจึงวาดภาพได้งามๆ อย่างนี้ อะไรประมาณนั้น รายละเอียดอยู่ในพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้สนใจโปรดหาอ่านเอง ผมไม่มีต้นฉบับในมือ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถ ดูภาพรวมแล้วให้แนวคิดสอดคล้องกับสำนักวิปัสสนาอันเป็นรากฐานของสำนักวัดทองนพคุณอย่างดี

มุมหนึ่งเป็นภาพโต๊ะตั้งพระไตรปิฎก (ไม่ใช่ตู้ ถ้าตำราอยู่ในตู้กว่าจะถูกหยิบออกมาศึกษาต้องผ่านหลายขั้นตอน !) เป็นหนังสือเล่มวางซ้อนๆ กัน 3 กอง พระวินัยปิฎกหนึ่งกอง พระสุตตันตปิฎกหนึ่งกอง พระอภิธรรมปิฎกอีกหนึ่งกอง ใต้โต๊ะบรรจุคัมภีร์มีสัตว์น่ารักสองตัวคือแมวกับหนูวิ่งไล่กันอยู่ ดูแล้วอดยิ้มในอารมณ์ขันของศิลปินไม่ได้ คล้ายจะบอกว่า เมื่อศึกษาพระคัมภีร์อย่างคร่ำเคร่งแล้วทำให้เครียด ให้ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการดูภาพน่ารักๆ เสียบ้าง

อีกมุมหนึ่งมีภาพพระภิกษุปัดกวาดลานวัด และพิจารณาอสุภกรรมฐาน (จำได้ว่ารูปเก่า ศพขึ้นอืดเชียว แต่ที่ซ่อมภายหลังศพสวยงามไปหน่อย) ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นธรรมดาของชีวิต ทำนองว่าเมื่อศึกษาตำราแล้ว ก็นำทฤษฎีสู่การปฏิบัติขัดเกลาจิต

อีกมุมหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าเป็นไฮไลต์ทีเดียว เป็น ภาพต้นไม้ 3 ต้น กิ่งไม้พันกันยุ่ง และสูงขึ้นไปหน่อย กิ่งที่พันกันนั้นคอดกิ่วดุจจะขาดมิขาดแหล่ มองไปข้างบนสุด เป็นภาพความว่างเปล่าคล้ายสุญญตา (หรือนิพพาน) ภาพนี้ตีความได้ว่า เมื่อเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ก็นำธรรมะมาปฏิบัติขัดเกลาจิต ภาพปัดกวาดลานวัดก็ดี พิจารณาศพก็ดี ให้นัยแง่ปฏิบัติคือ การปัดกวาด ขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์

ภาพต้นไม้ 3 ต้นที่มีกิ่งสาขาพันกันยุ่งนุงนัง แทนกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ร้อยใจให้ยุ่งเหยิง เมื่อปฏิบัติไประดับหนึ่ง กิ่งที่พันกันค่อยๆ เรียว คอดเกี่ยว ดุจจะขาดจากกัน ขาดผึงเมื่อไร นั่นแหละ นับว่า บรรลุซาโตริ สว่างโพลงภายใน ถึงเป้าหมายแห่งการปฏิบัติแล้ว ครับ

คลิกกลับหน้าเดิม

Advertisement
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s