ประวัติวัดทองนพคุณ คลองสาน โดย ส. ศิวรักษ์

ประวัติวัดทองนพคุณ คลองสาน โดย ส. ศิวรักษ์

หอศิลป์วัดทองนพคุณ PDF พิมพ์ ส่งเมล
เขียนโดย ส. ศิวรักษ์
Image

วัดทองนพคุณเดิมเป็นวัดที่เน้นทางด้านการภาวนา ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ดังขอให้สังเกตราชทินนามของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระญาณรังษี พระครูกสิณสังวร และพระสุธรรมสังวรเถร ฯลฯ โดยที่วัดนี้ไม่เน้นทางด้านคันถธุระ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีหอไตร แม้จะมีตู้งามๆ สำหรับใส่พระคัมภีร์ต่างๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ ก็เป็นรูปพระธรรมคัมภีร์ ครบทั้งสามปิฎก อยู่ตรงข้ามกับพระประธาน ยังล่างลงมา ก็มีรูปพระภิกษุศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม อยู่ใต้ต้นไม้อันมียอดสูงส่งขึ้นไปในทางปรมัตถธรรมเอาเลยทีเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินนั้น พอพระทัยภาพนี้มาก จนโปรดให้ช่างหลวงมาเขียนจำลองไปไว้เป็นภาพฝาผนังพระวิหารวัดมหาพฤฒาราม ดังนี้เป็นต้น

สมัยเมื่อข้าพเจ้าบวชเณรอยู่วัดทองนพคุณในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น มีเรือนไม้หลังย่อมๆ อยู่หลังพระอุโบสถ ที่นอกเขตพุทธาวาสออกไป เรียกกันว่าหอไตร แสดงว่าไม่ได้เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะหอไตรนั้น มักสร้างขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์พิเศษในทางสถาปัตยกรรม และถือว่าเป็นสถานที่สำคัญรองลงมาแต่พระอุโบสถและพระวิหารเท่านั้น โดยที่มักขุดเป็นสระล้อมรอบหอไตรไว้ด้วย เพื่อกันปลวกและตัวแมลงอื่นๆ ซึ่งเป็นข้าศึกกับใบลานหรือสมุดข่อย

ดีร้ายหอไตรของวัดทองนพคุณจะเกิดขึ้นในสมัยเมื่อวัดนี้ หันมาเน้นทางด้านคันถธุระ ตอนปลายสมัยพระครูเหมนพคุณเป็นเจ้าอาวาส ในรัชกาลที่ ๖ ตอนที่พระสังฆรักษ์ ( ชุ่ม ) ย้ายจากวัดอนงค์มาบริหารงานแทนท่านพระครูเหมฯ เพราะท่านชรามากแล้ว และท่านพระสังฆรักษ์ ( ชุ่ม ) นี้แล ที่มาเริ่มบุกเบิกการพระปริยัติศึกษา ตามแนวทางของวัดอนงคาราม ซึ่งรับอิทธิพลมาจากสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แห่งวัดบวรนิเวศ

พร้อมกันนี้ ก็ต้องตราไว้ด้วยว่า แม้วัดทองนพคุณจะไม่ได้เน้นในทางคันถธุระ แต่ก็มีชื่อเสียงเกียรติคุณทางด้านการศึกษามานาน ดังบุคคลสำคัญๆ ที่มาเรียนภาษาไทยไปจากวัดนี้ บางท่านเป็นคนสำคัญในระดับชาติเอาเลย เช่น สมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) วัดสุทัศน์ พระยาอุภัยพิพากษา ( เกลื่อน ชัยนาม ) พระยาสารสินสวามิภักดิ์ ( เทียนเลี้ยง สารสิน ) เป็นต้น

เมื่อพระสังฆรักษ์ ( ชุ่ม ) ได้เป็นเจ้าอาวาสนั้น ท่านได้เป็นพระครูวิเศษศีลคุณ แล้วได้เป็นพระสังวรวิมล จนได้เป็นพระเทพวิมลในที่สุด แม้ท่านจะไม่ได้เป็นเปรียญ แต่ท่านก็เป็นผู้บุกเบิกทางด้านการพระปริยัติศึกษาของวัดนี้ โดยที่ท่านเองก็เคยไปเรียนภาษาบาลี ที่สำนักสมเด็จพระวันรัต ( เฮง ) วัดมหาธาตุด้วย แม้ท่านจะเกิดปีเดียวกันก็ตาม องค์ท่านเองก็เตรียมสองเปรียญ หากปีนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๕ สวรรคต สนามหลวงงดสอบเปรียญ ท่านจึงพลาดโอกาสไป แต่คณะสงฆ์ก็ทราบถึงความสามารถของท่าน จึงยกให้ท่านเป็นเปรียญ ๔ ประโยค เป็นอย่างกิตติมศักดิ์ ทั้งท่านยังแนะให้ท่านล้อม เหมชะญาติไปขอพระเปรียญจากวัดมหาธาตุมาช่วยสอนภาษาบาลีที่วัดทองนพคุณอีกด้วย คือ พระมหาป่วน ซึ่งเมื่อลาสิกขาแล้ว ได้เป็นหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ โดยที่เมื่อท่านล้อมสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังแรกให้วัดนั้น เจ้าคุณสมเด็จแห่งวัดมหาธาตุ ก็ตั้งชื่อให้ว่าโรงเรียนล้อมวิทยาประสิทธิ์อีกด้วย

พระมหาอิ๋น สัตยากรณ์ได้เป็นเปรียญรูปแรกของวัดทองนพคุณ ทั้งยังได้เป็นเปรียญเอกอุ ๙ ประโยคเป็นรูปแรกอีกด้วย ดังต่อมาท่านได้เป็นผู้ครองพระอารามต่อจากเจ้าคุณพระเทพวิมล พระมหาอิ๋นได้เป็นพระราชาคณะ ในราชทินนามว่าพระภัทรมุนีจนตลอดชนม์ชีพ แม้จะได้เลื่อนขึ้นเป็นชั้นเทพแล้วก็ตาม

สำหรับพระมหากี มารชิโนนั้น ก็ได้เป็นเปรียญเอกอุรูปที่สองของวัดนี้ และได้ครองพระอารามสืบต่อจากท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี โดยได้รับสมณศักดิ์ด้วยการเปลี่ยนราชทินนามมาทุกขั้นตอน แต่แรกเป็นพระกิตติสารโสภณ และเลื่อนเป็นพระราชเวที พระเทพเมธี และพระธรรมเจดีย์ในที่สุด

การปริยัติศึกษาของวัดนี้ มีชื่อลือชาสูงสุด แต่สมัยที่พระมหากี ป . ๙ ทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้กับศิษยานุศิษย์ จนท่านสามารถสอนให้ลูกศิษย์ท่านได้เป็นสามเณรเปรียญ ๙ เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน ใช่แต่เท่านั้น ศิษย์ของท่านที่สอบได้เป็นเปรียญเอกอุนั้นมีถึง ๔๕ รูป เท่ากับปีที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ นับได้ว่าไม่มีใครเทียบเท่า ดังศิษย์ของท่านที่ยังบริหารการพระศาสนาในระดับสูงก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งท่านเจ้าคุณพระเทพวิมลและท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี ล้วนปรารภที่จะตั้งหอสมุดขึ้นในวัด เป็นอันว่าหอสมุดเข้ามาแทนที่หอไตรยิ่งๆ ขึ้นทุกที ดังหอสมุดติสเทวาภิธาน ณ วัดตรงวัดสุทัศน์เป็นพยาน หรืออนุสรณ์ถึงสมเด็จพระสังฆราช ( แพ ติสเทโว ) ศิษย์เก่าของวัดทองนพคุณนั้นแล

ท่านเจ้าคุณพระเทพวิมลถึงกับปรารภว่า ให้ใช้กุฏิท่านทำเป็นหอสมุดก็ได้ หลังจากที่ท่านมรณภาพล่วงลับไปแล้ว ส่วนท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนีนั้น ถึงกับทำพินัยกรรมไว้เลยว่า ปัจจัยไทยทานที่ท่านมีอยู่ทั้งหมด ขอให้รวมกันนำไปปลูกเป็นอาคารหอสมุด หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพท่านแล้ว โดยที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ก็สนองเจตนารมย์นี้ด้วย ดังมีหอสมุดภัทรานุสรณ์เป็นพยานอยู่ ณ ที่ที่เดิมเป็นกุฏิคณะ ๓ ของท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนีนั้นแล

แม้ที่วัดมหาธาตุ จะไม่มีหอสมุดสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) แต่เจ้าอาวาสวัดธรรมโสภิต ทางจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นชาตภูมิของเจ้าคุณสมเด็จ ก็ได้สร้างหอสมุดขึ้นถวายพระคุณท่าน และทำพิธีเปิดไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘ นี้เอง เชื่อว่าถ้าท่านเจ้าคุณพระเทพวิมล ทราบด้วยโดยญาณวิถีใด ท่านคงอนุโมทนาสาธุการด้วย ในฐานะที่ท่านเคยได้รับคุณูปการมาจากเจ้าคุณสมเด็จองค์นั้น เฉกเช่นกับที่ท่านได้รับมาจากสมเด็จพระวันรัต (นวม พุทธสโร ) แห่งวัดอนงคารามนั้นแล

น่าเสียดายที่หอสมุดตามวัดต่างๆ ยังไม่ได้เปิดบริการอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่นี่คือหัวใจในทางธรรมทาน และอาจดึงคนเข้าวัดได้เป็นอย่างดี หาไม่ วัดจะเป็นเพียงสถานที่ในทางพิธีกรรมอย่างขาดความรอบรู้ไปเอาเลย ไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที

Imageอนึ่ง วัดต่างๆ โดยเฉพาะก็พระอารามหลวง อันมีประวัติความเป็นมาอย่างสำคัญๆ นั้น มักมีศิลปวัตถุซึ่งมีค่ามิใช่น้อย ถ้าไม่เก็บรวบรวมไว้ดีๆ อาจหายไปได้ง่ายๆ ดังเมื่อย้ายศาลาการเปรียญ วัดทองนพคุณ มาปลูกใหม่ในปี ๒๕๒๖ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงยกช่อฟ้านั้น ข้าพเจ้าเสนอให้เจ้าอาวาสอนุรักษ์รูปพุทธประวัติ ประติมากรรมนูนสูงปิดทองระบายสี ที่ท่านล้อม เหมะชะญาติได้สร้างขึ้นไว้อย่างวิเศษ ภาพทั้งหมดจึงยังคงอยู่ โดยได้ตีพิมพ์หนังสือในเรื่อง ภาพพุทธประวัติวัดทองนพคุณ(สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๒๖) กล่าวไว้ด้วยทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เสียดายที่ภาพมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ที่ศาลาการเปรียญเดิมปลาสนาการไปอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก

ภาพศิลปะและศิลปวัตถุต่างๆ ของวัดนั้น สมัยเมื่อท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นผู้บริหารการพระศาสนา ทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค ท่านให้ทำบัญชีแยกของสงฆ์ออกจากของส่วนตัว ดังบัญชีการเงินก็เช่นกัน

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ นั้น เป็นวันพระราชสมภพครอบ ๒๐๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ทางวัดมกุฏกษัตริยารามต้องการจัดพิพิทธภัณฑ์สถานขึ้นเพื่อรวบรวมศิลปวัตถุและของมีค่าอื่นๆ ของวัด เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ณ วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑ จะครบชาตกาลครบศตวรรษของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณยิ่งในฐานะนักการศึกษา นักบริหารการพระศาสนาและเป็นผู้จัดตั้งหอสมุดภัทรานุสรณ์ขึ้นสำเร็จ รวมทั้งยังเป็นผู้ตั้งมูลนิธิพระปริยัติธรรมวัดทองนพคุณขึ้นเป็นท่านแรกอีกด้วย นอกเหนือไปจากดำริของท่านที่จะแยกของสงฆ์ออกจากของส่วนตัว โดยที่เครื่องโต๊ะกึมตั๋งอันมีค่ายิ่งนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพวิมลมีชุด ๑ และท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนีก็มีชุด ๑ แล้วตกมาเป็นของสงฆ์ทั้ง ๒ ชุด โดยที่ถ้ารวมสมบัติอันมีค่าเหล่านี้เข้าด้วยกันกับศิลปกรรมอื่นๆ อันควรจะเป็นเกียรติเป็นศรีกับพระอาราม มารวมกันเข้าเป็นหอศิลป์ นี่ก็จะช่วยวัดอีกสถานะหนึ่งด้วยการอาศัยความงาม นำไปสู่ความดีและความจริง นอกเหนือไปจากการบูชาคุณความดีของอดีตเจ้าอาวาส แต่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ไปจนพระคุณเจ้ารูปอื่นๆ ก่อนหน้าท่านและหลังจากท่าน

อนึ่ง การเก็บรวบรวมศิลปะต่างๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน จะช่วยไม่ให้กุฏิเจ้าอาวาสรกรุงรัง ไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ทั้งยังเป็นการล่อใจมิจฉาชีพอีกด้วย

หากสมาชิกชมรมศิษย์วัดทองนพคุณกับพระภิกษุสามเณรในวัด จะร่วมกันปรึกษาหารือในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการเตรียมงานฉลองชาตกาลครบศตวรรษ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ( กี มารชิโน ) ก็น่าจะสมควรนัก ดังทางวัดได้จัดงานฉลองวันเกิดครบศตวรรษมาแล้วแด่สองอดีตเจ้าอาวาสอย่างสมควรยิ่ง คือท่านเจ้าคุณพระเทพวิมล ( ชุ่ม ติสโร ) เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๕ และท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี ( อิ๋น ภัทรมุนี ) เมื่อวันที่๑๕ มีนาคม ๒๕๓๖ – ๒๕๓๗ นั้นแล

คลิกกลับหน้าหลัก

Advertisement
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s