ป้ายคุณธรรม โดย…เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ป้ายคุณธรรม โดย…เสฐียรพงษ์ วรรณปก


Image
“ปลัดแป๊ะ” ส. ศิวรักษ์

ป้ายคุณธรรม

ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า เรื่องวัดทองนพคุณ ยังกับนวนิยายเชียว ถึงจะเป็นนิยายก็นิยายอิงธรรมะครับ เพราะข้อมูลที่นำมาเล่าเป็นเรื่องจริง จากประสบการณ์ตรงบ้าง ประสบการณ์อ้อมบ้างของผม ส่วนจะใส่ไข่มากน้อยแค่ไหน ให้จับผิดเอาเองครับ

ประดาศิษย์สำนักที่ความจำเลอเลิศ ไม่มีใครเกิน “ปลัดแป๊ะ” (ท่านพี่ ส. ศิวรักษ์) ไม่รู้ไปจำมาจากไหน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าจำได้ก็จำ และมีวิธีเล่าอย่างน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นเณรน้อยมาอยู่วัดใหม่ๆ เห็น ชายหนุ่มนักเรียนนอก มากราบท่านใหญ่ หลวงพ่อเจ้าคุณภัทร และหลวงพ่อเจ้าคุณกิตติสารฯ (พระธรรมเจดีย์) อย่างสนิทสนม จำได้ว่าวันแรกที่เจอหน้า หนุ่มนักเรียนนอกถามว่า เณรอยู่จังหวัดไหน ด้วยความเขินเป็นเณรอีสานบ้านนอก ต้องอ้อมแอ้มว่า อยู่บ้านเดียวกับหลวงพี่เสรี ทั้งที่หลวงพี่เสรีอยู่โคราช ผมอยู่มหาสารคาม “ก็ทางเดียวกันแหละวะ ถึงสระบุรีแล้วเลี้ยวขวาไปอีกสามสี่ร้อยกิโลก็ถึง (ฮิฮิ)” ผมคิด

จำไม่ได้ว่าครั้งนั้นหนุ่มนักเรียนนอกให้หนังสือผมหรือไม่ คนคนนี้นิสัยชอบแจกหนังสือ มาวัดทีไรมีหนังสือติดมือมาแจกพระเณรแทบทุกครั้ง ทำให้นิสัยนี้ติดผมมาจนบัดนี้ เขาบอกว่ามาเยี่ยมบ้านชั่วคราว จะกลับไปเรียนต่อ จำไม่ได้ว่าตอนนั้นเขาเรียนจบ ออกมาทำงานวิทยุบีบีซีหรือยัง แต่ที่จำแม่นคือทุกครั้งที่เขาจะมาจะไป หลวงพ่อเจ้าคุณทั้งสอง ยกเว้นท่านใหญ่ (เจ้าคุณพระเทพวิมล) จะไปรับไปส่งที่สนามบินดอนเมืองตลอด จนผมสงสัยว่า เขามีความสำคัญอะไร หลวงพ่อเจ้าคุณทั้งสองจึงให้ความสำคัญปานนั้น

การที่เขาเคยบวชเณร มีท่านใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้หลวงพ่อเจ้าคุณภัทรเป็นพระอาจารย์ และหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ของผมเป็นพระพี่เลี้ยง ทำให้เขาซึมซับคุณธรรมจากท่านทั้งสามโดยไม่รู้ตัว ตอนแรกที่รู้จักเขา ไม่รู้ดอกว่านิสัยใจคอเป็นคนขวางโลก ดังที่คนเขาพูดกัน เมื่อเขาเขียนเรื่อง “พระภัทรมุนีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เมื่อปี พ.ศ.2507 เขาเล่าว่าสมัยบวชเณรบิณฑบาตได้กับข้าว ขนมขะต้มมากมาย พระเณรบิณฑบาตรวยกันมาก จนเด็กวัดเอาไข่เค็มมาเตะเล่นสนุกสนาน ทำเอาคุณชวลิสร์ กันตามรัติ ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน พูดกับผมว่า “ไอ้หมอนี่มันใครกัน เขียนอะไรน่าถีบ”

จะอย่างไรก็ตาม ผมประทับใจในความเป็นคนกตัญญูกตเวทีของเขามาก ยิ่งระยะหลังเมื่อเราต่างคนต่างแก่เฒ่าแล้ว เขาต้องคดีถูกนายทหารฟ้องฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เขาขอให้ผมเป็นพยาน ศาลอ้างคำให้การของผมกับอาจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ แค่สองคนเท่านั้น หักล้างคำกล่าวหาโดยสิ้นเชิง พ้นคุกไปได้ เขาก็ฝากขอบบุญขอบคุณผมมายกใหญ่

คุณธรรมข้อนี้ จะว่าเป็นคุณธรรมเด่นประจำสำนักเราก็ว่าได้ ดังภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ มีภาพวาดชาดกเรื่องหนึ่ง (จนบัดนี้ผมก็ยังนึกชื่อชาดกไม่ออก) แต่ให้สาระด้านความกตัญญูกตเวทีชัดเจน

มีลิงทโมนตัวหนึ่ง เห็นหงส์บินไปบินมาได้ ก็อยากจะบินได้บ้าง จึงไปขอร้องให้หงส์สองตัวช่วย หงส์ก็สางสาร ไปหาขี้ผึ้งมาเสกปั้นเป็นปีกทั้งสองข้างให้ แล้วเจ้าทโมนก็บินได้ ด้วยความอนุเคราะห์ของหงส์ทั้งสอง คอยบินบังพระอาทิตย์ให้ กำชับว่า ตราบใดที่ยังอยู่ภายในร่มเงาปีกของพวกตน ลิงก็จะบินได้อย่างปลอดภัย จึงไม่ควรไปไหนตัวเดียว ใหม่ๆ ก็เชื่อฟังหงส์ทั้งสองดี แต่นานเข้าก็ชักอวดดี ไม่ยอมอยู่ใต้ปีกหงส์ทั้งสอง เรื่องอะไรมาตามบังลมบังแดดให้ รำคาญ ข้าไปตัวเดียวได้ ไม่ยอมให้หงส์ผู้มีพระคุณปกป้องให้แล้ว บินไปตัวเดียวอย่างสนุกสนาน ไม่นานปีกขี้ผึ้งก็ละลายทีละเล็กละน้อย เพราะแสงพระอาทิตย์แผดเผา ท้ายที่สุดเจ้าจ๋อก็ตกลงมาตายอย่างอนาถสำนักของผมเน้นหนักคุณธรรมข้อนี้มาตลอด คล้ายกับว่าใครฝ่าฝืนกฎข้อนี้ จะมีอันเป็นไปไม่ต่างกับลิงตัวนั้น

ผมมีเพื่อนเณรที่มาอยู่รุ่นเดียวกับผมรูปหนึ่ง ชื่อ เณรอ๊อด (ชื่อเล่นนี้แกตั้งเอง เป็นที่รู้กันในวงแคบ) จะไม่ขอเอ่ยชื่อจริง เณรอ๊อดเป็นศิษย์ที่ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ คณะสิบ นำมาจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคนหัวดีเรียนเก่ง เดินหลังค่อมนิดๆ เพื่อนเรียกลับหลังว่า “ไอ้ค่อม” ไอ้ค่อมสอบได้เปรียญ 7 ประโยค ขณะยังเป็นเณรอายุไม่ครบบวช ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ได้เพียงเปรียญ 5 ประโยค ค่าที่ตัวเองเรียนสูงๆ จึงมีทิฐิมานะ กระด้างกระเดื่อง ครูบาอาจารย์เตือนอะไรก็ไม่ค่อยฟัง ใช้วาจาสามหาวไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ก็เตือนด้วยความเมตตา ทุกครั้งที่ถูกเตือนถูกอบรม

มันสวนทันที “โธ่ แค่ประโยค 5 ยังมีหน้ามาสอนประโยค 7 ให้มันรู้บ้างเซ้ ไผเป็นไผ”

ท่านเจ้าคุณก็รู้สึกระอา ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยปล่อยเลยตามเลย นานๆ เข้าไอ้อ๊อดก็นอกรีตนอกรอยมากขึ้น ริคบเณรวัดทองบน จีบสาว ก็ไม่ถึงกับผิดศีลเหมือนเจ้ากูบางคนสมัยนี้ดอกครับ ความรู้ถึงหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสแล้ว) เรื่องอย่างนี้ท่านถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เอาไว้ไม่ได้ ถึงกับ “ประณาม” (ไล่ออกจากวัด) กลางพรรษา เจ้าคุณสมบูรณ์ขอร้องหลวงพ่อเจ้าคุณให้ผ่อนปรน ขอให้ออกพรรษาก่อนค่อยให้ออก ท่านก็ไม่ยอม ท้ายที่สุดเณรอ๊อดก็ต้องย้ายไปอยู่ทางภาคเหนือ ดูเหมือนจังหวัดเชียงราย โยมอุปัฏฐากเณรอ๊อด ถึงกับเคืองหลวงพ่อเจ้าคุณว่าเข้มเกินไป ทั้งๆ ที่โทษก็ไม่ถึงกับไล่ออก

เณรอ๊อดตอนหลังสึกออกไปหลังจากบวชพระแล้ว ไปสมัครเป็นบุรุษไปรษณีย์ ทำงานราชการพักหนึ่ง ตอนหลังถูกไล่ออก ข้อหายักยอกเงินไปรษณีย์ ได้เมีย เมียก็ไม่มีอาชีพอะไร ตัวเองก็ตกงาน ท้ายสุดต้องขอทานเลี้ยงชีพ เฉลิมชัย (เล็ก) ศิษย์รุ่นน้องรายงานผมว่า ไอ้อ๊อดเสียชีวิตแบบที่คนโบราณว่า เหมือนหมากลางถนน ยังไงยังงั้น น่าอนาถยิ่งนัก

พวกเราผู้รู้แบ๊คกราวด์สรุปว่า ไอ้อ๊อดมันถูกสาป เพราะขัดกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของสำนักของเรา คือเนรคุณครูบาอาจารย์นั้นแลเป็นเหตุใหญ่

ขณะปาฐกถาวันร้อยปีแห่งชาตกาลของหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์นั้น ผมชี้ให้พวกเราศิษย์รุ่นหลังสังเกตว่า จุดที่ผมยืนปาฐกถานั้นคือ ศาลาข้างโบสถ์ ศาลานี้เป็นสถานที่แห่งแรกที่ผมได้มาเรียนบาลีประโยค 5 จากหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ เพราะปีนั้น (พ.ศ.2498) โรงเรียนปริยัติธรรมที่ใช้เรียนถูกอัคคีภัย จะสร้างเสร็จยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยเรียนกันที่ศาลาข้างโบสถ์หลังนี้ (สถานที่เดิม แต่อาคารหลังใหม่) เนื่องจากศาลาเล็ก ไม่พอจุพระเณรนักเรียน ที่เหลือจึงต้องเรียนในโบสถ์บ้าง ข้างเสมารอบโบสถ์บ้าง

โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีชื่อว่า “โรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์” แต่ป้ายกำแพงโรงเรียนเขียนว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” ความเป็นไปเป็นมาคือว่า สถานที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมนี้ คหปตานีชื่อ ท่านล้อม เหมชะญาติ มรรคนายิกาวัดทองนพคุณ ได้บริจาคที่สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้รับเมตตาจาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนล้อมวิทยาประสิทธิ์” เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้น อาคารเรียนถูกไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น สร้างขึ้นมาใหม่ได้ชื่อว่า โรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์

Image
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ

แต่กำแพงล้อมรอบสถานที่อันท่านล้อมบริจาคนั้น แทนที่จะจารึกชื่อเช่นเดียวกับอาคารโรงเรียน หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์เกรงว่าคนภายหลังจะไม่รู้ประวัติความเป็นมา ท่านจึงให้จารึกชื่อว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” เพื่ออนุสรณ์ถึงพระคุณของท่านผู้บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียน ผมชี้ให้ลูกศิษย์ หลานศิษย์ เหลนศิษย์ทั้งหลายดูว่า ป้ายเล็กๆ สองป้ายนี้ มีความสำคัญและมีความหมายแก่พวกเรามาก เพราะนี่คือ “จารึกแห่งคุณธรรม” ที่โบราณาจารย์ได้สลักเสลาไว้ให้เป็นเนตติ (แบบอย่าง) ให้พวกเราได้น้อมนำไปปฏิบัติเพื่อความเจริญงอกงามแห่งชีวิต และเพื่อจรรโลงโลกในวงกว้าง

เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึง เหตุการณ์หลังตรัสรู้ ในสัปดาห์ที่สอง พระพุทธองค์เสด็จถอยออกมาทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงจ้องต้นโพธิ์ไม่กะพริบตาตลอดเจ็ดวัน อันเรียกขานในปัจจุบันนี้ว่า “อนิมิสสเจดีย์”

ใครจะแปลความอย่างไร ไม่รู้ แต่ผมเห็นว่า นี่พระพุทธองค์ทรงขอบคุณต้นโพธิ์ ที่ให้ร่มเงาได้อาศัยนั่งพิจารณาธรรมจนตรัสรู้ ทรงแสดงแบบอย่างแห่งกตัญญูกตเวทีให้คนอื่นได้ปฏิบัติตาม ดังท่านพุทธทาสกล่าวว่า “เพียงกตัญญูกตเวทีอย่างเดียว ทำให้โลกรอดและดับเย็นได้”

ป้ายเล็กๆ ของโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งวัดทองแอ๋ของผม ย่อมอมความสำคัญมหาศาลไม่ต่างกัน บุรพาจารย์ได้แสดงให้เป็นแบบอย่างให้สืบสานต่อไปชั่วกาล

ที่มา ลานธรรมจักร

คลิกกลับหน้าหลัก

Advertisement
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s